ARTICLE FEATURE l VIDEO FEATURE
' มาเอาสิ่งที่เราชอบอยู่รอบๆตัวเรา '
words by 11.29 Studio l Photography by Beer Singnoi
Project Name : Furnish Studio
Owner : Puntita Meeboonsabai
Architect : 11.29 Studio (Kantinan Na Nakorn, Thewaphon Phoonkamlang, Chanon Pannayang, Sasipim Sivaroroskul)
Interior : 11.29 Studio (Kantinan Na Nakorn, Thewaphon Phoonkamlang, Chanon Pannayang, Sasipim Sivaroroskul)
Area : 144 sq.m
Year : 2021
Location : Na Ta Khuan, Mueang Rayong District, Rayong, Thailand
Photographs : Beersingnoi ArchPhoto
วิธีการออกแบบเพื่อความยั่งยืนมีหลายวิธี สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือที่ตั้ง ซึ่งส่งผลต่อการออกแบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในพื้นที่ของจังหวัดระยอง สถาปนิกเลือกประเด็นการใช้วัสดุหมุนเวียน และใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น เพื่อลดการใช้พลังงานจากการขนส่ง มาเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการก่อรูปสตูดิโอของศิลปิน
เนื่องจากจังหวัดระยองเต็มไปด้วยนิคมอุตสาหกรรม เป็นเมืองที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัวประชากรสูงที่สุดในประเทศไทย การก่อสร้างอาคารจำนวนมากจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ผลที่ตามมาคือการใช้คอนกรีตจำนวนมากสำหรับงานก่อสร้าง โดยทั่วไปการใช้คอนกรีตทุก 20 ลูกบาศก์เมตร จะต้องทำการทดสอบความแข็งแกร่งด้วยลูกปูนทรงกระบอก 3 แท่ง เมื่อผ่านการทดสอบลูกปูนก็สิ้นสุดหน้าที่ทางวิศวกรรมกลายเป็นขยะ ทำให้เกิดแนวคิดที่จะนำวัสดุเหลือใช้มาเพิ่มมูลค่าทางสถาปัตยกรรม โดยให้เป็นส่วนหนึ่งของเปลือกภายนอก เพื่อบ่งบอกความเฉพาะของพื้นที่ และก่อสร้างง่าย เนื่องจากคอนกรีตเป็นวัสดุที่ช่างทั่วไทยทำงานได้ง่าย รวมถึงการเลือกใช้วัสดุที่หาได้ง่ายทั่วไทยอย่างไผ่ เป็นทางเลือกให้กับเปลือกอาคารเช่นกัน
การก่อรูปเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา ตัวอาคารเป็นกล่องเรียบง่าย แต่ออกแบบให้สเปซภายในรองรับพื้นที่สำหรับทำงานศิลปะโดยเฉพาะการวาดภาพด้วยสีน้ำมัน จำเป็นที่ต้องมีการระบายอากาศที่ดีมาก เนื่องจากการวาดรูปสีน้ำมัน จะมีน้ำมันในสีระเหยอยู่ตลอดเวลา สามารถสร้างผลกระทบต่อสุขภาพศิลปินได้ หากไม่ได้อยู่ในพื้นที่ระบายอากาศได้ดี การสร้างผนังระแนงไผ่แนวตั้งตอบรับกับการแก้ปัญหาดังกล่าวได้ดี
Furnish Studio จึงออกแบบด้วยการตีความคำว่าการออกแบบอย่างยั่งยืน ด้วยคอนกรีตเหลือใช้ และไผ่ ประกอบเข้าด้วยกันให้มีมูลค่าเหมือนการสร้างงานศิลปะภายในสตูดิโอแห่งนี้